อังคารที่ 10 มิถุนายน 2557 นำมาลงวัน จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2557
นางกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีสัญญาณดีขึ้น เห็นได้จากความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนกลับมามากขึ้น เพราะสถานการณ์การเมืองมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทีเอ็มบีคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพิ่ม 0.5-1 % เป็น 2.5-3 % จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 2 %
ทั้งนี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงมั่นใจการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-25 % ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากไตรมาส 1 ขยายตัว 8-10 % ซึ่งสูงกว่าภาพรวมตลาดบัตรเครดิตที่คาดจะขยายตัวทั้งปีที่ 8-10 % เท่านั้น
ส่วนคุณภาพหนี้บัตรเครดิตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่น่ากังวล โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) บัตรเครดิตเพียง 2 % ซึ่งทีเอ็มบีจะเน้นดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด แม้ไม่เพิ่มหลักเกณฑ์การทำบัตรเครดิตสำหรับลูกค้าใหม่
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีจะออกบัตรเครดิตใหม่ทั้งปี 140,000 ใบ จากที่ออกไปแล้วไตรมาสแรก 40,000-50,000 ใบ ซึ่งจะเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ตรงจุด โดยล่าสุดมีการออกบัตรเครดิต TMB So Smart ที่จะคืนเงิน 1 % ให้กับผู้ถือบัตรทุกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเข้าบัญชีเงินฝากไม่ประจำทีเอ็มบี ให้ดอกเบี้ย 2.25 % โดยตั้งเป้าจะออกบัตรให้ได้ 30,000 ใบในปีนี้
ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ด้ทำการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีระดับรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป ในกรุงเทพฯ จำนวน 500 คน ซึ่งใช้บริการเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยผลของการสำรวจ สรปุได้ว่าพฤติกรรมการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ชี้ให้เห็นว่าโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ สอดคล้องกับทิศทางความต้องการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2557 ขณะที่แม้ข้อมูลจากผลสำรวจจะชี้ถึงภาวะที่ผู้บริโภคบางส่วนเผชิญภาวะหนี้สินหลายทางและเลือกใช้สินเชื่อส่วนบุคคลในการเสริมสภาพคล่อง ไปจนถึงชำระคืนหนี้สินอื่น ๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการ ก็ยังสามารถบริหารจัดการภาระหนี้ให้สอดคล้องกับระดับของรายได้ อีกทั้งมีวินัยการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ในช่วงประมาณ 15,001-50,000 บาท
ทั้งนี้การติดตามดูแลลูกหนี้ของผู้ให้บริการ ก็น่าจะช่วยคลายความกังวลต่อปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลลงไปได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังนั้น คาดว่าน่าจะมีแรงส่งมากขึ้น โดยเฉพาะหากทางการสามารถผลักดันการใช้จ่ายของภาครัฐให้ก้าวหน้าและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งอาจกระตุ้นให้ผู้ให้บริการสินเชื่อ
ส่วนบุคคลหันมาทำตลาดมากขึ้นเพิ่มเติมในช่วงปลายปี และทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลมีโอกาสขยายตัวสูงเข้าหา 9% ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งเป็นกรอบบนของช่วงประมาณการปัจจุบันที่ 6-9% ได้ แม้ว่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 ที่ 16.3% และสิ้นไตรมาส 1/2557 ที่ 12.9% จะยังเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จากผลของฐานและปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอลงในไตรมาส 1 และคาดว่าจะชะลอต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็ตาม
อ้างอิง : http://www.ryt9.com/s/nnd/1915712