วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทีเอ็มบีสนับสนุนซิมโฟนี่ขยายวงจรสื่อสารความเร็วสูงทั่วประเทศและเตรียมเชื่อมการสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน

ข่าววันที่ 28 พฤษภาคม 2557 นำมาลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557



กรุงเทพฯ, XX เมษายน 2557 – ทีเอ็มบี สนับสนุนบริษัทซิมโฟนี่ 300 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานวงจรสื่อสารความเร็วสูง ให้ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ และใช้เป็นฐานเชื่อมโยงการสื่อสารไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายพีรพงศ์ นิธิไกรวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบรรษัทธุรกิจ 1 ทีเอ็มบี เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมาปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 40%   และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งรวมผู้ใช้บริการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และในระดับภูมิภาคจากประเทศเพื่อนบ้าน  ธนาคารมองว่าปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นต่างๆ  ดังนั้น โอกาสการเติบโตของผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงจึงยังมีอีกมาก   เรียกว่าเติบโตควบคู่กับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจก็ว่าได้ และในโอกาสที่บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ SYMC ได้ขยายโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวงจรสื่อสารความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท ซิมโฟนี่ฯ  ซึ่งมีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตลาดในระยะยาวและมีรายได้ที่เติบโตสม่ำเสมอจากการให้เช่าโครงข่ายการสื่อสาร ในปีนี้ ธนาคารจึงได้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมจำนวน 300 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีอยู่จำนวน 200 ล้านบาท  สำหรับนำไปลงทุนขยายโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม  โดยบริษัท ซิมโฟนี่ฯ มีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่การให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับ ธุรกรรมการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

นายกรัณย์พล อัศวสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ซิมโฟนี่ฯ ได้ขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรงกับความต้องการการเชื่อมต่อที่มากขึ้น และขยายแบนด์วิดธ์เพิ่มขึ้น เช่น การเชื่อมต่อในโครงข่ายส่วนบุคคล ดิจิตอลทีวี โทรศัพท์ 3G ทั้งนี้ บริษัท ซิมโฟนี่ฯ เป็นผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยใช้โครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเป็นโครงข่ายหลัก เพื่อรองรับการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเอง จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี 2549 และในปี 2554 บริษัท ซิมโฟนี่ฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ใบอนุญาตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (International Internet Gateway : IIG) และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ต (National Internet Exchange : NIX) แบบที่สอง และได้รับอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี Wi-Fi เพิ่มเติมจากโครงข่ายเดิมตามใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเองฉบับเดิม  นอกจากนี้ บริษัทซิมโฟนี่ฯ ยังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง  และใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ ในปี 2556

อ้างอิง : https://www.tmbbank.com/newsroom/news-details.php?id=559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น