วันที่ : 30 พฤษภาคม 2557 นำมาลงวันที่ 4 มิถุนายน 2557
หนึ่งทศวรรษการออมไทย…รายย่อยฝากน้อย กู้หนัก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองยุทธศาสตร์สนับสนุนการออมของประเทศเป็นสิ่งจำเป็นหลังสัญญาณการออมในรอบทศวรรษที่ผ่านมาส่อปัญหา เงินฝากของรายย่อยเพิ่มขึ้นไม่ทันการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
แม้ทางเลือกในการออมของคนไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน แต่การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ก็ยังเป็นทางเลือกอันดับแรกของหลายคน เพราะนอกจากจะสามารถใช้บริการได้ง่ายแล้ว ยังมีความปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินฝากที่มียอดไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่ได้รับการคุ้มครองแน่นอน ทำให้การออมของประชาชนจึงยังอยู่ที่เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ฝากเงินรายย่อย
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (เปรียบเทียบข้อมูล มี.ค. 2547 กับ มี.ค. 2557) พบว่าการฝากเงินของรายย่อยซึ่งมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด มีอัตราการเพิ่มของยอดเงินฝากโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5.7 ต่อปี ต่ำกว่าการขยายตัวของรายได้ต่อหัวของคนไทยที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.5 ต่อปี และที่แย่ไปกว่านั้นคือ อัตราการขยายตัวของเงินฝากรายย่อยนั้นต่ำกว่าการก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มถึงร้อยละ 13.7 ต่อปี
เมื่อศึกษาพฤติกรรมการออมของคนไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยแบ่งช่วงบัญชีเงินฝากตามขนาดของบัญชี พบว่า อัตราการเติบโตของยอดเงินในบัญชีมักจะเพิ่มตามขนาดของบัญชี อาทิ กลุ่มบัญชีเงินฝากที่มียอดฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีการขยายตัวของยอดเงินฝากรวมที่อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี ต่ำกว่ากลุ่มบัญชีเงินฝากที่มียอดระหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านบาท ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 6.3 ทำให้สามารถตีความได้ว่า ผู้ที่มีกำลังการออมสูงกว่า หรือ อีกนัยหนึ่งมีคือมีรายได้ที่จะออมมากกว่า จะมีความสามารถ “ให้เงินทำงาน” ได้มากกว่า
แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงก็สามารถเพิ่มเงินออมได้ถ้ามีความตั้งใจจริง โดยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิต แถมยังอาจทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างคือ ควรเลิก“จน เครียด กินเหล้า” เพราะจากตัวเลขการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 ชี้ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน ซึ่งหากสามารถละเลิกการใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้ เงินออมก็งอกเงยร้อยละ 1 ของรายจ่ายต่อเดือนเช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายในการเล่นหวยและการพนันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน ดังนั้น ถ้าเลิกเหล้าและการพนันได้ เงินออมก็จะงอกเงยร่วมร้อยละ 2 และ ยิ่งหากลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารที่มีโครงสร้างประมาณร้อยละ 3 ของรายจ่ายรายเดือนลงได้หนึ่งในสาม ก็หมายถึงเราจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 ได้อย่างสบาย ความสำเร็จในการออมจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน
จากผลสำรวจเดียวกันนี้ ยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนหนี้ที่นำมาใช้ในการบริโภคอุปโภคต่อหนี้สินทั้งหมด ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท จะมีสัดส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงร้อยละ 51 เทียบกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 15,000 บาท ที่มีสัดส่วนดังกล่าวเพียงร้อยละ 36
สถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นภาวะออมน้อยกู้มาบริโภคหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลไปยังศักยภาพในการชำระหนี้ รวมไปถึงปัญหาทางการเงินของประชาชนในกลุ่มดังกล่าวด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่แล้วในปีนี้ (ประชากรไทยที่มีอายุ 65 ขึ้นไป มีสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดแล้ว) อาจสร้างภาระทางการเงินให้กับประเทศได้มาก เช่น คนอาจมีเงินไม่พอใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือ รัฐต้องจัดงบประมาณให้เป็นสวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะก่อให้มีปัญหาการคลังตามมาได้ เป็นต้นหากภาวะการออมของคนไทยยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขให้เป็นนโยบายระดับชาติ
อ้างอิง:https://www.tmbbank.com/analytics/detail.php?id=336&GID=3
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น